เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ นำพยานหลักฐานเข้ามอบ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นรายชื่อของคณะทำงานของ สว. 200 ราย และเป็นคณะทำงานชุดแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงคณะทำงานในชุดที่ 2 เพื่อให้ดีเอสไอตรวจสอบความเชื่อมโยงของบุคคลดังกล่าว ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการฮั้วการเลือก สว. หรือไม่ เพื่อให้รวบรวมหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนของดีเอสไอ

นายภัทรพงศ์ เปิดเผยว่า วันนี้ตนเดินทางมายื่นเอกสารรายชื่อของบรรดาผู้ช่วย สว. ในล็อตแรก หมายถึงล็อตแรกที่ได้รับเลือกเป็น สว. แล้วได้มีการแต่งตั้งคณะผู้ช่วยทำงาน รวม 8 ราย ของ สว. แต่ละราย แต่พอวันที่ 1 ตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนคนใหม่ แต่ก็ไม่ทราบด้วยสาเหตุใด สว. หลาย ๆ คนมีการเปลี่ยนคณะผู้ช่วยทำงานยกชุด โดยเฉพาะ สว.ลำดับ 13 ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ที่ก็ได้มีการเปลี่ยนคณะผู้ช่วยทำงานยกชุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ อย่างเช่น ทำไมต้องเปลี่ยน ในเมื่อทำงานได้แค่ 2 เดือน แล้วเหตุใด สว.บางท่าน ที่มีนามสกุลว่า “เกรัมย์” ซึ่งเป็น สว. จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ว่ากันว่าเป็นเพียงคนขับรถให้กับเจ้านายตระกูลดัง กลับเอาญาติที่มีนามสกุลเดียวกันไปเป็นผู้ช่วย สว. ให้กับคนอื่น ตนสงสัยว่าไปรู้จักกันตอนไหน มีความเกี่ยวพันธ์อะไรอย่างไรกันถึงได้มอบหมายให้ญาติตัวเองไปเป็นผู้ช่วย สว.คนอื่น ทำไมไม่ให้มาเป็นผู้ช่วย สว.ตัวเอง มันเกิดอะไรขึ้น หรือรู้จักกันก่อนหน้านั้นนานแล้วหรือไม่ รวมทั้งกรณีของ สว. พบว่าเคยเป็น อสม. เคยเป็นเกษตรกร คนเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย หรือจบ ป.4 เป็นต้น ซึ่งตนไม่ได้ดูถูก (Bully) แต่ตามธรรมดาแล้ว หากจะหาคนมาช่วยงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย รวม 8 รายดังกล่าว ควรจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถ หรือมีคุณวุฒิที่ตรงกับสายงานที่ตัวเองเป็น สว. ในกลุ่มนั้น ๆ หรือไม่ เพราะ อสม. ถูกหยิบยกมาเป็นผู้ช่วย สว. จำนวนมาก เกษตรกรก็มี
นายภัทรพงศ์ เผยอีกว่า ส่วนข้อสังเกตประการต่อมา คือ มันมีการกระจุกอยู่กับพื้นที่ทางการเมืองที่พรรคการเมืองสีน้ำเงินมีจำนวน สส. มาก หมายความว่า ผู้ช่วย สว. ไปเฟ้นหาคนจากตรงนั้นมา เป็นต้น ตนจึงหวังว่าข้อมูลที่ตนนำมาให้ดีเอสไอในวันนี้ ซึ่งเป็นการนำข้อมูลมาให้เป็นครั้งที่ 3 ในฐานะพยาน จะเป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมเข้าสำนวน
นายภัทรพงศ์ เผยต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังติดใจในประการสุดท้าย เพราะอย่างที่ทราบว่าดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้วตามข่าวที่ปรากฏ แต่ยังติดใจประเด็นที่ว่าความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดชั้น 2 จะต้องมีความผิดมูลฐานก่อน สมมุติว่าหากสอบเส้นทางการเงินไปแล้วไปแตะนาย ก. ข. ค. ซึ่งอาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร หรือความมั่นคงเกี่ยวกับรัฐ คำถามคือใครจะเป็นเจ้าภาพทำคดีดังกล่าว หรือให้รอ กกต. แต่ด้วยข้อห่วงใย ตนจะเดินทางมาดีเอสไออีกครั้ง เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวนคนที่อยู่ในโพยฮั้ว 138+2 รายชื่อให้แยกเลขคดีพิเศษเป็นคดีใหม่ ฐานอั้งยี่ซ่องโจร อย่างไรตนจะขอนำเรื่องนี้ไว้ไปหารือกับอธิบดีดีเอสไอภายหลัง
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า ภายหลังจากที่บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568 รวมถึงได้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งทางอัยการสูงสุดยังได้มีการมอบหมายพนักงานอัยการ 8 ราย จากสำนักงานการสอบสวนมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนกับดีเอสไอ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.) เวลา 13.30 น. จะได้มีการประชุมร่วมกันครั้งแรกครบองค์คณะ ระหว่างดีเอสไอและอัยการ ทั้งนี้ รายละเอียดประเด็นต่าง ๆ อาจยังไม่สามารถนำเปิดเผยได้ในตอนนี้ เพราะยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวน
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า สำหรับวาระการประชุมในวันพรุ่งนี้นั้น วาระสำคัญคือการประชุมเปิดคดี เพื่อจะได้กำหนดประเด็นทางคดี เพราะอัยการที่มาร่วมสอบสวนอาจยังไม่รู้พฤติการณ์ที่มีการกล่าวหา ดีเอสไอจึงต้องนำเสนอให้อัยการได้รับทราบด้วย และจะได้ร่วมกันกำหนดประเด็นที่จะสอบสวนร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม หลักการในการสอบสวน คือ หากมีหลักฐานอะไรที่เป็นประโยชน์ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ พนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อจะพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ หากในการประชุมพรุ่งนี้สามารถลงรายละเอียดได้ถึงขั้นตอนการแบ่งหน้าที่การสอบสวนระหว่างดีเอสไอและอัยการ เราก็จะได้หารือเรื่องนี้ร่วมกัน เพราะตนเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งกลับจากอัยการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา จึงประสงค์ที่จะนัดประชุมให้เร็วที่สุด จะได้ตระเตรียมประเด็นด้วยกัน ส่วนกรณีพยานเอกสารหลักฐานซึ่งนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้นำมามอบให้ในวันนี้นั้น จะถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมพรุ่งนี้หรือไม่ ต้องถือว่าเป็นการแจ้งข้อมูลมายังดีเอสไอ เราก็ต้องนำเข้าไว้เป็นประเด็นในการสอบสวนด้วย เพราะอย่างที่เรียนว่าเรามีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และเป็นพฤติการณ์ในความผิดฐานใด