สภาวิศวกรแถลงบทบาทหลังเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม เดินหน้ารวบรวมข้อมูลตั้งคณะทำงานตรวจสอบจรรยาบรรณวิศวกร ย้ำหากพบผิดจริง พร้อมดำเนินการเด็ดขาด พร้อมประสาน ดีเอสไอ-รัฐ เดินหน้าหาต้นเหตุและดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 16:00 น (9พค.)ที่สภาวิศวกร ถนนลาดพร้าว สภาวิศวกรได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ถล่ม กับบทบาทของสภาวิศวกร”มีผู้บริหารระดับสูงของสภาร่วมชี้แจง ได้แก่ ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร, รศ.ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ อุปนายกคนที่ 2, รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ และนายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย เข้าร่วมแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชนอย่างครบถ้วน
ผศ.ดร.ธเนศ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุถล่มของอาคาร สตง. สภาวิศวกรได้ลงพื้นที่ทันที พร้อมจัดส่งวิศวกรอาสาเข้าให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัยในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและกู้ร่างผู้เสียชีวิต รวมถึงร่วมกับกรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารโดยรอบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วม และส่งตัวแทนของสภาวิศวกรเข้าร่วมคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงของหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 2–3 ชุด พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ เพื่อประเมินบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในแต่ละส่วน
ด้าน รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ กล่าวว่าคณะกรรมการจรรยาบรรณมีหน้าที่หลักในการดูแลจรรยาบรรณของวิชาชีพวิศวกรรม เพื่อความมั่นใจของสังคมว่าการประกอบวิชาชีพจะไม่เป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยมีกระบวนการไต่สวนสามขั้นตอน ได้แก่
- พิจารณาข้อกล่าวหา โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจะตรวจสอบเบื้องต้นว่าข้อกล่าวหาเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณหรือไม่
- ไต่สวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูล จะมีการเชิญพยานและคู่กรณีมาให้ข้อมูลเพื่อสรุปความเห็นเสนอคณะกรรมการจรรยาบรรณ
- วินิจฉัยชี้ขาด โดยคณะกรรมการเต็มชุด ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.การุญ ย้ำว่ากระบวนการนี้มีความเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยจะพิจารณาภายใต้กรอบกฎหมายและจรรยาบรรณที่ชัดเจน
หากมีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ถล่มของอาคาร สตง. ต้องการร้องเรียน สามารถทำหนังสือกล่าวหาโดยระบุชื่อบุคคลหรือนิติบุคคล พร้อมพฤติการณ์ที่อ้างว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณ โดยต้องกระทำภายใน 1 ปีนับจากวันที่ทราบการกระทำผิด และต้องสามารถระบุตัวผู้กระทำได้ ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ขณะที่ นายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกล่าวหาหรือร้องเรียนเข้ามาอย่างเป็นทางการกรณีตึก สตง.ถล่ม แต่สภาวิศวกรได้เริ่มรวบรวมข้อมูลของวิศวกรที่เกี่ยวข้องทุกคนแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการกระทำใดเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณหรือไม่ หากพบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ จะมีการสรุปข้อมูลเสนอต่อประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณีที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกรในเอกสารโครงการ เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของกระบวนการยุติธรรม แต่หากผลสอบสวนยืนยันว่ามีการกระทำผิดจริง และผู้กระทำเป็นวิศวกร ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจรรยาบรรณได้ ซึ่งหากมีความผิดจริง โทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในกรณีที่มีผู้ถูกปลอมลายเซ็นและเป็นสมาชิกของสภาวิศวกร สภายินดีให้ความช่วยเหลือหากมีการร้องขอเข้ามาอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ สภาวิศวกรยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่มีวิศวกรปฏิบัติงานนอกเหนือจากระดับใบอนุญาตที่ได้รับ และในกรณีที่วิศวกรคนใดถูกออกหมายจับในคดีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตจะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดจากศาล และถือว่าเป็นความผิดจรรยาบรรณที่สร้างความเสียหายต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวย้ำว่า สภาวิศวกรได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรวบรวมข้อมูลจากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม พร้อมส่งหนังสือถึงวิศวกรที่มีรายชื่อเกี่ยวข้อง หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สตง., กลุ่มกิจการร่วมค้า PKW, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ในโครงการ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมร่วมกับข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการทางจรรยาบรรณและดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนตามกฎหมายต่อไป