หลังจากที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ พังถล่ม ก็ได้กลับมาหารือกันอีกครั้งที่กองอำนวยการร่วม
ซึ่งต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 10 คน ได้เดินทางมายังกองอำนวยการร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่สนับสนุนการเก็บพยานหลักฐานในจุดเกิดเหตุ
หลังการหารือ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการหารือเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งวันนี้หลังจากที่ได้คุยแบ่งหน้าที่กันแล้ว ได้เข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จากนั้นก็กลับมาประชุมเพื่อกำหนดหน่วยงานที่จะเข้าตรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุก่อนหลัง โดยคิวแรกวันพรุ่งนี้เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง และเรียงลำดับหน่วยงานรายวันตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ มีตัวแทนของแต่ละหน่วยงานก็ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุบ้างแล้ว แต่ก็ต้องมาดูภาพใหญ่ว่า ในมิติเชิงคดีต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ตรงไหนขาด ตรงไหนต้องเพิ่มเติม ตรงไหนสมบูรณ์แล้ว
ส่วนการที่มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาร่วมปฎิบัติงานด้วยนั้น ระบุว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นการมาช่วยเสริมปฏิบัติว่าจะช่วยในด้านใดได้บ้าง มาประสานการปฎิบัติมาดูว่าส่วนไหนที่จะเสริมได้ แต่โดยหลัก ๆ เก็บหลักฐาน ในช่วงเวลาใกล้เกิดเหตุนั้นเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดซึ่งส่วนนี้ทางพิสุทางตำรวจแล้วได้มีการรวบรวมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งก็จะมีการประสานข้อมูลกันต่อ
นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า ประเด็นหลักที่กรมสอบสวนคดีทำคดีก็คือ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ นอมินี และ เรื่องการประมูลเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมการ หรือ ฮั้วประมูล โดยการฟันราคาให้ราคาต่ำ และนำมาสู่การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้างหรือไม่ เพื่อขยายผลต่อไป